รับปรึกษา ฟรี!
รับปรึกษา ฟรี!

Core Web Vitals ปัจจัยด้าน UX ที่มีผลต่อ SEO : Google Ranking Factors (4)

บทความนี้ ผมจะแนะนำให้รู้จัก ปัจจัยสำคัญตัวใหม่ที่ Google ใช้เป็นปัจจัยในการจัดอันดับการค้นหา ซึ่งเพิ่งใช้เมื่อเดือนสิงหาคม 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งก็คือ Core Web Vitals นั่นเอง ปัจจัยนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ต้องมีความรู้เชิงลึกในการทำครับ

Core Web Vitals คืออะไร?

Core Web Vitals (CWV) คือ ปัจจัยที่ Google แนะนำสำหรับใช้วัด User Experience (UX) ของเว็บไชต์ ซึ่งการวัดจะแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อ คือ

  • ความเร็วในการโหลดเนื้อหา (LCP)
  • การตอบสนองของเว็บไซต์ (FID)
  • การเปลี่ยนดีไชน์ของเว็บไซต์ระหว่างเข้าเว็บ (CLS)

ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยที่จะต้องมีความรู้ในเรื่องของการเขียนโค้ดเว็บไซต์, ความรู้เกี่ยวกับการบีบอัดภาพ และความรู้เกี่ยวกับการปรับแต่งเครื่อง Server มารวมจึงจะสามารถทำคะแนนสูง ๆ ได้ครับ

จัดว่าเป็นปัจจัยที่มือใหม่แก้เองได้ยาก และแนะนำให้หาคนที่มีความรู้จะดีกว่าครับ

ผมขออธิบาย 3 หัวข้อที่ใช้ในการวัดนะครับ

ความเร็วในการโหลดเนื้อหา (Largest Contentful Paint)

Largest Contentful Paint (LCP) คือ การวัดระยะเวลาในการโหลดเนื้อหาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบนเว็บไซต์ ซึ่งถ้ามีขนาดใหญ่มาก จะส่งผลให้เว็บไซต์โหลดช้า ทำให้คนเข้าเว็บรอนานนั่นเองครับ เนื้อหาขนาดใหญ่ที่ว่า ก็คือ วีดีโอ, ภาพ และกลุ่มโค้ดขนาดใหญ่ นั่นเองครับ

แนวทางในการเพิ่มคะแนนของ LCP คือ เราจะต้องลดขนาดไฟล์วีดีโอ, รูป รวมถึงโค้ดให้มีขนาดเล็ก และเหมาะสมกับขนาดหน้าจอของผู้เข้าเว็บ เช่น ถ้าเข้าเว็บด้วยมือถือ รูปที่ส่งเข้ามือถือ ก็ไม่ควรจะมีขนาดใหญ่มาก เพราะมือถือจอเล็ก แต่ถ้าเข้าเว็บด้วย Desktop ก็จะส่งรูปขนาดใหญ่ ที่มีความละเอียดมากขึ้น ทำให้รูปที่เห็นไม่แตกครับ

ดังนั้นจะเห็นว่า การเพิ่มคะแนนในส่วนนี้ให้สูง สิ่งที่จะต้องทำคือ

  1. บีบอัดรูปหรือวีดีโอให้มีขนาดเล็ก หรือ ใช้เทคโนโลยีใหม่ในการบีบอัด เช่น ใช้รูปแบบ webp เป็นต้น
  2. ใช้ระบบ Server ที่สามารถจับ device ของคนเข้าเว็บได้ว่า ใช้มือถือ หรือ Desktop และให้เว็บไซต์ส่งขนาดรูป หรือ สื่อที่เหมาะสมให้

เริ่มรู้สึกมึนแล้วใช่ไหมครับ? สำหรับมือใหม่ จำง่าย ๆ ว่า พยายามบีบอัดรูปภาพให้เล็กที่สุดก่อน upload ขึ้นเว็บ ก็พอครับ ส่วนเทคนิคขั้นสูงแนะนำให้คนที่มีความรู้เชิงลึกทำดีกว่าครับ

การตอบสนองของเว็บไซต์ (First Input Delay)

First Input Delay (FID) คือ การวัดระยะเวลาการตอบสนองเว็บไชต์ครั้งแรก ตั้งแต่เข้าเว็บไซต์ หรือ เป็นคำพูดบ้าน ๆ ก็คือ ความเร็วที่เว็บไชต์สามารถใช้นิ้วเราสไลด์เลื่อนขึ้นลง ได้นั่นเองครับ

การเพิ่มคะแนน FID นี้เป็นอะไรที่ยากมาก แม้แต่ผมเอง ถ้าโค้ดไม่ได้ออกแบบมาให้มีการตอบสนองไวตั้งแต่แรก บางครั้งอาจจะต้องรื้อเว็บใหม่ไปเลยก็ได้ครับ (และถือโอกาสดีไชน์เว็บใหม่เลย)

คะแนน FID นี้จะมีผลอย่างมาก ต่อเว็บไชต์ยุคเก่าเป็นแอปที่จะต้องโหลดโค้ดจนครบก่อน แล้วจึงใช้ง่ายได้ เช่น เว็บที่ใช้ Flash ในยุคเก่า ครับ

เทคนิคการโค้ดเว็บไชต์ที่จะทำให้เกิด FID คะแนนดี คือ

  1. การเขียนโค้ดให้สามารถแบ่งการโหลด และ ประมวลผล แยกได้ เช่น การเขียนแบบแบ่งเป็น Section เป็นต้น
  2. การตั้งค่า delay ในการทำงานของโค้ด Javascript บางตัว ที่ไม่จำเป็นต้องรีบโหลด เช่น โค้ดปุ่มแชทของ Facebook เป็นต้น

จะเห็นว่า การทำคะแนน FID ให้ดีนั้น จะต้องมีความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับการเขียนโค้ดพอดูครับ

การเปลี่ยนดีไชน์ของเว็บไซต์ระหว่างเข้าเว็บ (Cumulative Layout Shift)

Cumulative Layout Shift (CLS) คือ การวัดการเปลี่ยนแปลงของดีไชน์ในระหว่างที่โหลดหน้าเว็บ อธิบายง่าย ๆ คือ ในระหว่างที่โหลดหน้าเว็บมาโชว์นั้น ดีไชน์จะต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือมีการกระโดดไปมา

เช่น บางเว็บไชต์ ตอนที่รูปยังไม่โหลด เราจะเห็นว่า ข้อความติดกันหมดเลย แต่อยู่ดี ๆ ข้อความก็เด้งลงมาข้างล่าง และก็มีรูปโชว์ ออกมา

เว็บไชต์ไหนที่เป็นแบบนี้ คะแนนจะต่ำครับ

ข้อนี้ สำหรับผมก็เป็นข้อที่แก้ยากเหมือนกัน เพราะบางครั้งเรามีการโชว์รูปในหน้าเว็บ Desktop กับมือถือต่าง ๆ และการเขียนโค้ดที่จะทำให้ข้อความไม่เด้งไปมา จะต้องมีการล็อกขนาดรูป ปัญหาก็คือ ถ้าล็อกขนาดของหน้า Desktop หน้ามือถือ ก็จะมีปัญหาขนาดรูปไม่สวยแทน...

ปัจจุบันผมมีทางออกแล้วนะครับ ปัญหาข้างต้น เป็นสิ่งที่ผมเจอ และมึน ๆ ตอนที่ปรับเว็บเพื่อให้ได้คะแนน CLS ดีในช่วงที่ Google ประกาศใช้ในตอนแรกครับ

การทำคะแนน CLS ให้ดีนั้น จำเป็นจะต้องรู้ภาษา CSS ครับ ซึ่ง CLS นั้นแก้ง่ายกว่า FID เพราะรู้แค่ CSS ก็พอแก้ได้แล้ว แต่ FID ต้องรู้ HTML และระบบภาษาที่เป็นพื้นฐานของเว็บที่สร้างด้วย เช่น WordPress ใช้ PHP เป็นต้น

การวัด Core Web Vitals ด้วย PageSpeed Insights

อธิบายความหมายมาเยอะแล้ว ทีนี้เรามาดูวิธีการวัด Core Web Vitals กันครับ โดยเว็บไชต์ที่จะใช้วัดได้ และ Dev ส่วนใหญ่ใช้เป็นมาตรฐานคือ PageSpeed Insights ของ Google นั่นเองครับ

การใช้งานก็ง่ายมากครับ แค่เข้าเว็บ และใส่ URL ของเว็บไชต์เรา จากนั้น ก็รอผลทดสอบครับ

เมื่อเห็นผลคะแนนก็ไม่ต้องตกใจนะครับ ส่วนใหญ่ เว็บไซต์ปัจจุบัน ถ้าไม่ได้วางแผนพัฒนาเพื่อ Core Web Vitals มาตั้งแต่แรก ยังไง ก็ได้คะแนนไม่ดีครับ

การวัดนั้นจะมีการแบ่งเป็น Mobile กับ Desktop โดยปกติหน้า Mobile จะได้คะแนนต่ำมาก ๆ เพราะ Google ใช้ความเร็วเน็ตแบบ 4G แบบช้าในการวัดครับ

เทคนิคในการปรับเว็บไซต์ ให้ได้คะแนนสูง ๆ แบบง่าย ๆ

อ่านมาเยอะ ผมเชื่อว่า หลาย ๆ คนอาจจะรู้สึกว่า ยาก เพราะต้องใช้ความรู้เยอะมาก แต่ถ้าคุณใช้ WordPress ชีวิตจะง่ายขึ้นครับ

WordPress นั้นจะมี plugin ที่ช่วยเพิ่มคะแนน Core Web Vitals ได้อยู่ แต่จะได้เฉพาะในส่วนของ LCP กับ FID ในบางส่วนเท่านั้นครับ หลัก ๆ จะเป็น plugin ประเภทบีบอัดรูปภาพ และ plugin ปรับแต่ง cache และความเร็ว ครับ

ผลคะแนนทดสอบต่ำมาก มีผลต่อ SEO ขนาดไหน?

มาถึงคำถามสำคัญแล้ว ถ้าเว็บไซต์ของเราได้คะแนนต่ำมาก เว็บไซต์เราจะตกจากผลการค้นหาเลยไหม? คำตอบคือ "ไม่" ครับ

การทำ Core Web Vitals ให้ได้คะแนนดีนั้น เป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่งเท่านั้นครับ

ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการทำ SEO คือ Content ตอบโจทย์คำถามหรือข้อสงสัย ของคนที่เข้าเว็บครับ

ต่อให้คะแนนไม่ดียังไง แต่ถ้า Content มีคุณภาพสูง และคู่แข่งยังไม่มีใครทำ Content ได้ดีเท่าเรา เว็บไซต์เราก็จะติดอันดับเหมือนเดิมครับ

แล้ว คะแนนนี้ จะมีผลในตอนไหนล่ะ? จะมีผลก็ต่อเมื่อ มีคู่แข่งที่ทำ Content และมีปัจจัยอื่น ๆ ใกล้เคียงกับเว็บไชต์เรามาก ถ้าเป็นแบบนี้ Core Web Vitals จะเป็นตัวตัดสินอันดับครับ

หลักฐานที่เชื่อว่า Core Web Vitals มีผลต่อ SEO

สุดท้าย เพื่อเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือของบทความ ผมขอโชว์หลักฐานที่ยืนยันว่า Core Web Vitals นั่น  Google ใช้เป็นปัจจัยในการพิจารณาจริง ๆ ครับ

ข้อความนี้ มาจาก Blog ของ Google ซึ่งได้มีการประกาศการมาของ Core Web Vitals ครับ ซึ่งมีข้อความว่า (แปลแบบคร่าว ๆ นะครับ)

ต้นเดือนนี้ ทีม Chrome จะมีการประกาศใช้ Core Web Vitals ในการวัดผลความเร็ว การตอบสนอง และความเสถียรภาพของการแสดงผล ซึ่งจะช่วยวัดประสบการณ์ในการใช้งานได้

วันนี้ เรากำลังสร้างบนงาน (Core Web Vitals) นี้ และจะนำไปใช้กับระบบจัดอันดันที่จะมีในเร็ว ๆ นี้ เราจะนำเสนอสัญญาณใหม่ที่มีการรวม Core Web Vitals เข้ากับสัญญาณสำหรับประสบการณ์ในการใช้งานเว็บไชต์

จากข้อความจะเห็นว่า คะแนนในส่วนนี้จะถูกฝั่งเข้าไปในระบบจัดอันดับ หรือ Ranking Factors ในส่วนของประสบการณ์ผู้ใช้งาน (UX) เลยครับ และเป็นคำตอบที่ว่า แม้คะแนน Core Web Vitals ต่ำ แต่อันดับจะไม่เปลี่ยนมาก ถ้า Content มีคุณภาพสูงครับ

บทความน่าสนใจ